นโม ๓ จบ
โส ญาณะคุตโต ยะติ พุทธะสาวะโก สุเมธะโส สีละสมาธินุตตะโม ขีณาสะโว จิตตะหิตาภิเมตตะโก นิพพานะมัคเค ชะนะตานุสาสะติ เอตาระหันตัง สิระสา นะมามิหังฯ

test test test test test

รับข่าวสารจากทางวัด

Delivered by วัดตรีวิสุทธิธรรม

เคลื่อนไหวล่าสุด

เนสัชชิก

พระอาจารย์ใหญ่ชวนพวกเราถือเนสัชชิกบ่อยๆ พระอาจารย์ใหญ่ท่านถือเนสัชชิกมาเป็นเวลานานหลายพรรษามาก ท่านเป็นผู้มีราตรีเดียวจึงไม่เคยนอน.. ไม่เคยนอนมาเป็นสิบๆ พรรษา (จนจำไม่ได้)

ท่านสอนเราด้วยถ้อยคำง่ายๆ ว่า

"เดิน ยืน นั่ง..ไม่นอน"

"ถ้านอนก็โง่.. ถ้ากินก็ง่วง"   

"เราได้ดีเพราะหัวเราไม่ติดหมอน.."

เนสัชชิกคืออะไร..

หลายคนก็ได้เนสัชชิกทุกครั้งที่มาร่วมงานบุญ มาวัดทีไรก็ได้สวดมนต์โต้รุ่งทุกที บางคนได้ฟังเรื่องเนสัชชิกจากพระอาจารย์เสมอๆ แต่ก็มีบางคนยังไม่รู้จักเนสัชชิก วิสุทธิธรรมดอทคอมขอนำความรู้เล็กๆ น้อยๆ ด้านปริยัติ เกี่ยวกับการเนสัชชิกมาฝากผู้สนใจค่ะ

เนสัชชิกังคะ เป็นหนึ่งในธุดงค์วัตร 13

 

คือการสมาทานถืออิริยาบถนั่ง-อิริยาบถยืน-อิริยาบถเดิน เพียง 3 อิริยาบถ ไม่อยู่ในอิริยาบถนอน


โดยมากถือ " การนั่ง " เป็นวัตร  โดยให้สมาทานว่า " เสยยัง ปะฏิกขิปามิ เนสัชชิกังคัง สะมาธิยามิ "

(ส่วนของสายวัดป่านั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ ละเว้นการหลับด้วย ซึ่งก็ทำได้ไม่ผิด)  

 

 

"การถือ เนสัชชิก คือ ปฏิบัติในอิริยาบถนั่ง ยืน เดิน ไม่นอน หากง่วงนอน ก็จะไม่เอนกายลงนอนจะเพียงแต่พิ​งเสานั่งหลับเท่าที่จำเป็นแก่ร่​างกายเท่านั้น ในช่วงพรรษาก็พยายามตั้งใจถือเน​สัชชิกตลอดพรรษา ปรารภความเพียร ไม่เห็นแก่นอน เพื่อสร้างวิริยะ แต่ก็มักจะแพ้ ที่ทำได้ครบสมบูรณ์ตลอดพรรษาก็เ​ป็นพรรษาที่ 8 เมื่ออยู่ประเทศอินเดีย"

จากหนังสือมีสุข ในหัวข้อ การปฏิบัติธรรม คือ ชีวิตที่เราวางแผนไว้แล้ว ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


 

ธุดงค์วัตรข้อ ๑๓. เนสัชชิกังคกถา

การสมาทาน แม้เนสัชชิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้คือ


เสยยํ ปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธอิริยาบถนอน ดังนี้อย่างหนึ่ง


เนสขขิกงคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง


ว่าด้วยการสมาทานในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

 

กรรมวิธี ก็แหละ อันเนสัชชิกภิกษุนั้น ต้องลุกขึ้นเดินจงกรมให้ได้ยามหนึ่ง ในบรรดายามสามแห่ราตรี เพราะในอิริยาบถ ๔ นั้น อริยาบถนอนเท่านั้น ย่อมไม่สมควรแก่ผู้บำเพ็ญเนสัชชิกังคธุดงค์ ว่าด้วยกรรมวิธีในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

 

ประเภท ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้เนสัชชิกภิกษุนี้ก็มี ๓ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น สำหรับเนสัชชิกภิกษุชั้นอุกฤษฏ์ หมอนอิงข้าง แคร่นั่งทำด้วยผ้า และผ้าสายโยค ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น สำหรับเนสัชชิกภิกษุชั้นกลาง ในของ ๓ อย่างนี้ เพียงแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้ได้ สำหรับเนสัชชิกภิกษุชั้นต่ำ พนักอิงข้างก็ดี แคร่นั่งทำด้วยผ้าก็ดี ผ้าสายโยคก็ดี หมอนพิงก็ดี เก้าอี้มีองค์ ๕ ก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น ก็แหละ เก้าอี้ที่ทำมีพนักข้างหลัง ชื่อว่าเก้าอี้มีองค์ ๕ (คือ เท้า ๔ พนักหลัง ๑) เก้าอี้ที่ทำมีพนักข้างหลังด้วย มีพนักในข้างทั้ง ๒ ด้วย ชื่อว่าเก้าอี้มีองค์ ๗ ได้ยินว่า เก้าอี้มีองค์ ๗ นั้น พวกทายกได้ทำถวายแก่ท่านพระจูฬอภยเถระ พระเถระสำเร็จพระอนาคามีปรินิพพานแล้ว ว่าด้วยประเภทในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ จากวิสุทธิมรรค --(อปัณณกสูตรสังเขป)-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดยามต้นแห่งราตรี ตลอดยามกลางแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ ย่อมลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรอย่างนี้แล ฯ


  --อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต อปัณณกสูตร บทว่า อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวาโร ความว่า มีทวารอันปิดแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายมีใจเป็นที่ ๖. บทว่า โภชเน มตฺตญฺญู ความว่า รู้ประมาณในโภชนะ. อธิบายว่า รู้ประมาณในการรับ การฉันและการพิจารณา. บทว่า ชาคริยํ อนุยุตฺโต ความว่า เป็นผู้แบ่งกลางคืนกลางวันออกเป็น ๖ ส่วน แล้วประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นใน ๕ ส่วน. อธิบายว่า ขะมักเขม้นในการตื่นอยู่นั่นเอง. บทว่า อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ ความว่า จากนิวรณ์ธรรม ๕ ประการ เพราะนิวรณ์จะกางกั้นจิตใจไว้ เพราะฉะนั้น นิวรณ์เหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่าอาวรณิยธรรม. บทว่า สโต สมฺปชาโน ความว่า ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ.   ถามว่า ภิกษุนั้น เมื่อหลับจะชื่อว่า มีสติสัมปชัญญะได้อย่างไร. ตอบว่า ด้วยสามารถแห่งความเป็นไป (ของกัมมัฏฐานก่อนหลับ). เพราะว่า ภิกษุนี้ เมื่อจงกรมในที่จงกรม รู้ตัวว่าง่วงนอน จึงพักกัมมัฏฐานที่กำลังบำเพ็ญอยู่ แล้วนั่งบนเตียง หรือบนแผ่นกระดานหลับไป เมื่อตื่นก็ตื่นมาบำเพ็ญกัมมัฏฐานในที่ที่พักไว้นั่นแหละอีก เพราะฉะนั้น ถึงเธอจะหลับ ก็ยังชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่. นี้เป็นนัยในมูลกัมมัฏฐานก่อน. ส่วนภิกษุนี้ชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะ แม้ด้วยกัมมัฏฐานตามที่กำหนด ถือเอาข้อนี้อย่างไร. อธิบายว่า ภิกษุนี้เมื่อจงกรม รู้ตัวว่าง่วงนอน ก็นอนตะแคงขวาบนแผ่นหินหรือบนเตียง พิจารณาว่า.. กายไม่มีใจนอนอยู่บนเตียงที่ไม่มีใจ เตียงที่ไม่มีใจก็วางอยู่บนปฐพีที่ไม่มีใจ ปฐพีที่ไม่มีใจก็อยู่เหนือน้ำที่ไม่มีใจ น้ำที่ไม่มีใจก็อยู่เหนือลมที่ไม่มีใจ ลมที่ไม่มีใจก็อยู่บนอากาศที่ไม่มีใจ บรรดาสิ่งเหล่านั้น แม้อากาศก็ไม่รู้ว่าเราอุ้มลมไว้ ถึงลมก็ไม่รู้ว่าเราสถิตอยู่บนอากาศ ถึงลมก็เช่นนั้นไม่รู้ว่าเราอุ้มน้ำไว้ ฯลฯ เตียงก็ไม่รู้ว่าเรายกกายไว้ กายก็ไม่รู้ว่าเราอยู่บนเตียง เป็นอันว่าสิ่งเหล่านั้นต่างฝ่ายต่างไม่มีการคำนึงถึงกัน ไม่มีการสนใจกัน ไม่มีการใส่ใจกัน ไม่มีเจตนา หรือไม่มีความปรารถนาต่อกันเลย ดังนี้ เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ ปัจจเวกขณจิตนั้น ย่อมหยั่งลงสู่ภวังค์. เธอแม้เมื่อหลับอยู่อย่างนี้ ก็ย่อมชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่. บทว่า อุฏฺฐานสญฺญํ มนสิกริตฺวา ความว่า ใส่ใจถึงสัญญาที่กำหนดเวลาลุกขึ้นว่า เมื่อดวงจันทร์หรือดวงดาวขึ้นถึงตรงนี้ เราจักลุกขึ้น. อธิบายว่า วางสัญญาไว้ในใจ. เพราะว่า เมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติอย่างนี้แล้วนอนก็จะลุกขึ้นได้ตรง ในเวลาตามที่กำหนดไว้แล้วนั่นแล. --อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ รถการวรรคที่ ๒ อปัณณกสูตร

 

ที่มา :  พุทธฏีกา http://larndham.org/index.php?/topic/38791%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%81/